มุมข่าวน่าสนใจ

วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

300 ขุนศึกพันธุ์สะท้านโลก

ภาพยนตร์เรื่อง 300 ขุนศึกพันธุ์สะท้านโลก เป็นการนำเสนอช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ สงครามระหว่าง 2 ชนชาติ สปาร์ต้า (Sparta) และเปอร์เซีย (Persia) ในช่วงยุคสมัยราว 480 ปี ก่อน ค.ศ. ในครั้งแรกที่ผมได้รับชมภาพยนตร์โฆษณาของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ผมมีความสนใจที่จะรับชมในทันที ประเด็นหลักที่ผมให้ความสนใจนั้นก็คือ นักรบ 300 คน ต่อสู้กับทหารจำนวนมากมาย เค้าจะทำได้อย่างไรและทำได้จริง ๆ หรือ? นับว่าสื่อโฆษณาที่ผู้สร้างได้ลงทุนทำมานั้นสัมฤทธิ์ผลอย่างน้อยผม 1 คนที่ได้ติดกับตกเป็นเหยื่อของความสงสัยอยากรู้อยากเห็น แต่เมื่อได้ชมภาพยนตร์จนจบแล้ว ผมกลับไม่ยอมที่จะจบไปกับภาพยนตร์ที่ได้ดู สิ่งที่ผุดขึ้นในหัว ประการแรกก็คือ300 คนสู้กับคนตั้งมากมายจะทำได้จริงหรือเปล่านะ? หรือเป็นเรื่องแต่งขึ้นมาเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แบบนี้มันต้องสืบ ประการที่สองแล้วเรื่องราวมันจะดำเนินต่อไปอย่างไรหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นจบลง (นิสัยแบบนี้เลยตกเป็นเหยื่อของภาพยนตร์ ภาค 2 ที่ทำมาขาย ฮา...) จากการที่ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ในโรง 1 รอบ แผ่น VCD 2 รอบ แผ่นDVD 2 รอบ (รอบสุดท้ายดูเพื่อเขียนบทความนี้) รวมทั้งหมด 5 รอบ มาดูกันครับว่าผมได้อะไรจากภาพยนตร์เรื่องนี้มาบ้าง
ในช่วงเริ่มต้นของภาพยนตร์ มีการกล่าวถึงการเด็กที่ถือกำเนิดขึ้นมาในสปาร์ต้า ถ้ามีรูปร่างที่ไม่ปกติ พิกลพิการ เขาจะต้องถูกกำจัด และเมื่อใดที่เด็กชาย เริ่มยืนได้เขาก็จะต้องถูกนำไปฝึกฝนการต่อสู้ เมื่อมีวัย 7 ปีเด็กชายจะถูกพรากไปจากแม่เข้าไปสู่โลกแห่งความรุนแรง สปาร์ต้าคืออะไร สังคมของสปาร์ต้าจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ! หากกล่าวถึงประวัติความเป็นมา สปาร์ต้า คือนครรัฐ (City-State) หนึ่งของกรีกโบราณ (กรีกโบราณประกอบไปด้วยนครหลาย ๆ นครรัฐ นครรัฐที่สำคัญได้แก่ เอเธนส์ (Athens) , ทีบีส (Thebes) , ไมลีตัส (Miletus) , คอรินธ์ (Corinth) , เมการา (Megara) เป็นต้น) สปาร์ต้ามีเชื้อสายมาจากพวกดอเรียน (Dorians) ตั้งอยู่ในแคว้น Laconia (Lacedaemonia) บนแหลม พีโลพอเนซัส(Peloponnesus) ราว 800 ปีก่อน ค.ศ. สังคมของชาวสปาตันมี นิสัยลักษณะแบบทหาร (military habits) รัฐจะมีการตรวจสอบเด็กที่เกิดมาในทุกครอบครัวหากพบความผิดปกติ พิกลพิการ รัฐก็จะกำจัดเด็กเหล่านั้นทิ้งทันที เมื่อเด็กผู้ชายที่มีอายุ 7 ปีเขาจะถูกนำออกจากครอบครัวเพื่อฝึกการต่อสู้ ให้มีร่างกายและจิตใจที่เข้มแข็ง มีความทนทานต่อสภาพที่ทุกข์ยากลำบาก โดยสำคัญที่ว่าเด็กถือเป็นสมบัติของรัฐ ไม่ใช่ของบิดา มารดา จากประเด็นในจุดนี้จะครับจะสังเกตได้ว่าเด็ก ๆ ในสปาร์ต้านั้น มีระบบการเรียนการสอนที่เน้นไปทางทหาร จึงทำให้สปาร์ต้าปราศจาก ปราชญ์ และ กวี ประวัติศาสตร์เรื่องราวของชนชาติสปาร์ต้าจึงมักจะถูกเขียนบันทึกขึ้นมาจาก คนภายนอกนครรัฐ
ลำดับต่อมาเราจะได้เห็น คณะผู้ส่งสารจากเปอร์เซีย ได้มาเยือนที่นครรัฐสปาต้า เพื่อส่งสารให้กับ เลโอนิดัส (Leonidas) กษัตริย์แห่งสปาร์ต้า เนื้อความในสารที่นำมาไม่ค่อยจะเป็นที่ถูกใจของ เลโอนิดัส เท่าที่ควร จากนั้นก็จะได้เห็นฉากที่ กษัตริย์เลโอนิดัส ถีบผู้ส่งสารชาวเปอร์เซีย ตกลงไปในท่อขนาดมหึมา!!! เหตุการณ์ในฉากนี้ก่อให้เกิดสงครามระหว่าง กรีก และเปอร์เซีย ใช่หรือไม่? หรือมาจากสาเหตุประการอื่น? ประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างภาพยนตร์นั้นก็คือสงครามลงโทษกรีก
เมื่อกล่าวถึงสงครามประเด็นแรกที่น่าจะต้องกล่าวถึงคือ ชนวนเหตุเกิดขึ้นมาจากอะไร? สงครามลงโทษกรีก ผมขอแบ่งออกเป็นช่วง ๆ (จากทั้งหมด 4 ครั้ง) เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นคือสงครามลงโทษกรีกครั้งที่ 1 และ สงครามลงโทษกรีกครั้งที่ 2 (ครั้งที่ 3 - 4 ไม่เกี่ยวข้องกับตัวภาพยนตร์แล้วครับ) พวกเปอร์เซีย (Persia) มาจากเชื้อสาย อินโด ยูโรเปียน (Indo-Europeans) ที่สร้างจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่บริเวณเมโสโปเตเมีย และขยายดินแดนออกไปกินพื้นที่ เอเชียไมเนอร์ ซีเรีย อินเดีย รวมถึงอียิปต์ สงครามลงโทษกรีกครั้งที่ 1 (ราว 499 - 494 ปีก่อน ค.ศ.) เกิดในรัชสมัยของ พระเจ้าดาริอุสมหาราช (Darius I) แห่งเปอร์เชีย เมื่อนครรัฐของกรีกในตุรกี (พวกไอโอเนียน Ionians ในเอเชียไมเนอร์) ที่อยู่ภายใต้การปกครองของเปอร์เชีย คอยหาโอกาสที่จะแยกตัวเป็นอิสระ จึงขอความช่วยเหลือไปยังนครรัฐเอเธนส์ และนครรัฐสปาร์ต้า นครรัฐสปาร์ต้าเพิกเฉยต่อคำขอ แต่นครรัฐเอเธนส์ส่งกำลังเข้าไปช่วยเหลือนครรัฐของกรีกในตุรกี เผาที่พักของ แซแทรป และประกาศไม่ขึ้นต่อเปอร์เชีย (แซแทรป Satrap ตำแหน่งผู้ว่าราชการปกครองของเปอร์เชีย ขึ้นตรงต่อกษัตริย์ ควบคุมกิจการใน แซแทรปปี Satrapies เปอร์เชียเรียกมณฑลว่า แซแทรปปี) ความรู้ถึงพระเจ้าดาริอุส ทำให้ไม่พอใจเป็นอย่างมากจึงทำสงครามลงโทษกรีก โดยเฉพาะนครรัฐเอเธนส์ ผลของสงครามในครั้งนี้ฝ่ายเปอร์เชียพบกับความปราชัย (สงครามครั้งนี้ทำให้เกิดตำนานวิ่งมาราธอน ของวีรบุรุษชื่อ Phedippedes) แม้เปอร์เซียจะพ่ายแพ้พระเจ้าดาริอุสผู้โกรธแค้น ยังมิยอมเลิกลาแผนการที่จะลงโทษกรีก กลับมาเตรียมทัพที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม หมายพิชิตศึกให้สำเร็จใช้เวลาเตรียมทัพนานราว 10 ปี กำลังคนราว 5 ล้านคน (จากบันทึกประวัติศาสตร์ของกรีก แต่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ลงความเห็นว่าราว 5 แสนคน) แต่ยังไม่ทันที่จะเคลื่อนทัพ พระเจ้าดาริอุสก็สวรรคตลงเสียก่อน ซึ่งสงครามลงโทษกรีกครั้งที่ 1 นี้ในบทภาพยนตร์ได้มีการนำไปอ้างถึงเหตุแห่งสงครามอันต่อเนื่องนี้อย่างสั้น ๆ ในฉากประชุมสมัชชาประชาชนในสปาร์ต้าช่วงเกือบจะตอนท้าย ๆ เรื่องครับ
สงครามลงโทษกรีกครั้งที่ 2 (ราว 480 ปีก่อน ค.ศ.) หลังจากสิ้นสมัยของพระเจ้าดาริอุสโอรสของพระองค์ พระเจ้าเซอร์ซีส (Xerxes) ขึ้นครองราชเป็นกษัตริยแทน ภาพยนตร์เรื่อง 300 ได้นำเอาช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ของการสู้รบในรัชสมัยของพระเจ้าเซอร์ซีส ที่ได้ทำสงครามลงโทษกรีกสืบต่อจากพระบิดา และนำทัพมาด้วยพระองค์เอง ชนวนเหตุที่ทำให้เกิดสงครามจากการที่ผู้นำสารเปอร์เซีย นำเนื้อความในสารมาแจ้งข่าวแต่ทางสปาร์ต้าปฏิเสธ (แถมโดนถีบตกท่อ) ตามที่ภาพยนตร์ได้นำเสนอจึงไม่ใช่ชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้สปาร์ต้าต้องเข้าร่วมสงคราม แต่สปาร์ต้าจำที่ต้องร่วมสงครามในครั้งนี้ อันเนื่องมากจากกองทัพอันมโหฬารที่ทางเปอร์เซียกำลังรุกคืบเข้ามานั้น นครรัฐต่าง ๆ ของกรีกรู้แก่ใจดีว่าถ้าไม่รวมกำลังกันเข้าต่อต้าน ไม่ช้ากองทัพเปอร์เซียก็จะบดขยี้นครรัฐของกรีกทีละเมืองจนหมดสิ้นทุกนครรัฐ เป็นอันว่าทูตเปอร์เซียตกท่อตายไปฟรี ๆ
ทูตเปอร์เซียตั้งแต่แรกมาถึงจนโดนถีบตกท่อ
จากการที่ กษัตริย์เลโอนิดัส ปฏิเสธผู้นำสารเปอร์เซีย และการกระทำของพระองค์ที่จะเรียกว่าชักศึกเข้าบ้านก็คงจะไม่ผิดนัก ทำให้ เลโอนิดัส ต้องปีนเขาขึ้นไปพบกับพวกอีเฟอร์ (Ephor) โดยผู้บรรยายในภาพยนตร์ได้กล่าวว่า ในทำนองที่ว่า "พวกอีเฟอร์นักบวชนับถือเทพโบราณ เหล่ากษัตริย์สปาร์ต้าจะต้องขอพรจาก พวกอีเฟอร์ ก่อนที่จะออกไปทำศึกเป็นธรรมเนียมปฏิบัตินั้นคือกฏ โดยที่ชาวสปาร์ตัน ไม่เว้นแม้แต่กษัตริย์ ก็ต้องทำตามกฏ" เนื้อเรื่องในภาพยนตร์ พวกอีเฟอร์ห้ามไม่ให้ เลโอนิดัสทำศึกอันเนื่องมากจากต้องฉลองเทศกาล คาร์เนอาร์ (Carneia , Karneia) เทศกาลคาร์เนอาร์ที่ว่าสำคัญอย่างไร? เทศกาล คาร์เนอาร์ เป็นเทศกาลเก่าแก่ทางความเชื่อที่สำคัญของชาวดอเรียนโบราณที่พูดภาษากรีก (สปาร์ต้า) มีระยะเวลา 9 วันในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี (แต่ตามบันทึกของ เฮโลโดตัส ฤดูร้อน 480 ปีก่อน ค.ศ. เทศกาลคาร์เนอาร์ในสปาร์ต้าอยู่ในระหว่างวันที่ 10 -18 กันยายน) เทศกาลนี้จะมีการจัดพิธีกรรมเพื่อสักการะถึงพลังของเทพ Apollo ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ แล้วพวกอีเฟอร์ทำไมจึงมีอำนาจสั้งกษัตริย์อย่างเลโอนิดัสได้ เลโอนิดัสจำเป็นที่จะต้องเชื่อฟังพวกอีเฟอร์หรือไม่ เมื่อจะกล่าวถึงบทบาท และความเป็นมาของพวก อีเฟอร์ สิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้นก็คือรูปแบบการปกครองของ สปาร์ต้า
ตามประวัติศาสตร์การปกครองของชาวสปาร์ตัน มีรูปแบบที่ประกอบไปด้วย
  • กษัตริย์ที่มีอำนาจเท่า ๆ กัน 2 พระองค์ ปกครองสปาร์ต้า และประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา
  • สภาผู้เฒ่า (หรือสภามนตรี) ขุนนางที่อายุเกิน 60 ขึ้นไป 28 คน และ กษัตริย์ 2 องค์ ดำรงตำแหน่งตลอดชีพ ทำหน้าที่บริหาร เป็นที่ปรึกษา ตุลาการ นำงานเสนอต่อสมัชชาประชาชน สมาชิกสภาผู้เฒ่าเลือกมาจากการลงความเห็นในสมัชชาประชาชน
  • สมัชชาประชาชน มาจากชายชาวสปาร์ตัน อายุเกิน 30 ขึ้นไป มีหน้าที่ตอบเพียง เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย กับงานที่สภาผู้เฒ่านำมาเสนอเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการเลือกสมาชิกสภาผู้เฒ่า และเจ้าหน้าที่บริหารที่เรียกว่า "อีเฟอร์"
การประชุมสภาของสปาร์ตาร์
แต่ในทางปฏิบัติแล้วอำนาจสูงสุดของสปาร์ต้าอยู่กับคณะบุคคล 5 คน คือ อีเฟอร์เรท (Ephorate) พวกอีเฟอร์ทั้ง 5 ดำรงตำแหน่งครั้งละ 1 ปี และสามารถได้รับเลือกอีกโดยไม่มีกำหนด พวกอีเฟอร์เป็นทั้งประธานในสภาผู้เฒ่า และสมัชชาประชาชน จึงทำให้มีอำนาจอย่างแท้จริง สามารถระงับพระราชบัญญัติทุกฉบับ ควบคุมชีวิตของเด็กชาวสปาร์ตันที่เกิดซึ่งถือเป็นสมบัติของรัฐ กำหนดนโยบายการศึกษา จากความเห็นส่วนตัวแล้ว อำนาจที่พวกอีเฟอร์มีอยู่จริง จึงไม่น่าที่จะเป็นอุปสรรคที่จะอนุมัติ หรือปฏิเสธให้ทำศึก โดยที่กษัตริย์สปาร์ต้าต้องยอมรับโดยปริยาย
Ephorate ทั้ง 5
เนื่องจากถูกปฏิเสธจากพวกอีเฟอร์ ที่จะให้ทำสงคราม กษัตริย์เลโอนิดัส จึงแอบเกณฑ์ทัพเป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดยมีนายทหารจำนวน 300 คน เพื่อหมายที่จะเข้าร่วมในสงครามที่กำลังจะเกิดโดยยากที่จะหลีกเลี่ยง แม้จะมีกำลังพลเพียงเล็กน้อย หรืออาจจะเรียกได้ว่าแทบไม่มีเลยเมื่อเปรียบเทียบกับ กองทัพมหึมาของเปอร์เซีย แต่กษัตริย์เลโอนิดัสก็ได้มีการคิดแผนการรับมือ ได้อย่างแยบยลโดยอาศัยความได้เปรียบทางภูมิประเทศของกรีกนั้นก็คือการตั้งทัพรับการบุกของเปอร์เชียในช่องเขาที่แคบ และความชำนาญศึกของนักรบชาวสปาร์ตัน จำนวนที่เป็นต่อของเปอร์เซีย ก็จะไม่มีความหมาย แผนการณ์นี้ทำให้กษัตริย์เลโอนิดัส คิดว่าจะพลิกสถาณะการณ์การตกเป็นรองของตนได้
ในระหว่างที่เดินทัพออกจากสปาร์ต้าไปยังช่องแคบ เธอร์โมไพลา (Thermopylas) นั้นกองทัพขนาดย่อยของสปาร์ต้าก็ได้พบกับทัพของ พวกกรีกด้วยกันที่มารวมทำศึก ก็คือทัพของพวก แอคเคียน (Arcade ชาวนครรัฐของกรีกจากเมือง Arcadia) พวกแอคเคียนประหลาดใจในทัพของสปาร์ต้าที่ กษัตริย์เลโอนิดัส นำทัพมามีจำนวนที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นจึงเอ่ยถามความต่อ กษัตริย์เลโอนิดัส แต่กษัตริย์เลโอนิดัส กลับย้อนถามกลับไปยังชาวแอคเคียน จากคำสนทนาในบทภาพยนตร์ที่ว่า " เจ้าคนนั้นแอคเคียนเจ้าทำอาชีพอะไร (you Arcade? Which his profession?) " กษัตริย์เลโอนิดัสหันกลับไปถามสปาร์ตาร์ว่า "สปาตันพวกเจ้ามีอาชีพอะไร (Spartan! Which its profession?) เห็นหรือไม่เพื่อนยาก ข้านำทัพนักรบมามากกว่าเจ้า (Did he see, friend? It brought more military than you.) " จากบทสนทนาในภาพยนตร์นี้แสดงให้เห็นถึงความภูมิใจในการเป็นนักรบที่แข็งแกร่งของชาวสปาร์ตัน ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพวกดอเรียนแท้ ๆ โดยที่ชาวสปาร์ตันเชื่อว่าตนมีสายเลือดมาจากเทพเจ้า เฮอร์คิวลิส (Hercules) ถึงอย่างไรก็ตามแม้ชาวสปาร์ตันจะเป็นนักรบที่เก่งกาจ ได้รับการยอมรับจากชาวนครรัฐต่าง ๆ ของกรีก แต่ก็ถูกชาวกรีกดูหมิ่นว่าเป็นพวกไร้อารยธรรม และโง่เขลา ซึ่งชาวสปาร์ต้าส่วนใหญ่จะเป็นพวกไม่รู้หนังสือ อีกทั้งยังมีนิสัยชอบเก็บตัวอยู่ในนครรัฐของตนไม่คบค้า หรือยอมรับอารยธรรมจากภายนอก จึงเป็นเหตุให้สปาร์ต้าล้าหลังทางอารยธรรม
กองทัพขนาดย่อมเริ่มออกเดินทาง
เนื้อเรื่องของภาพยนตร์ในฉาก Action ทั้งหมดจะอยู่ในตอนที่ทัพสปาร์ต้าเดินทางมาถึงช่องแคบ เธอร์โมไพลา เป็นฉากของการสู้รบที่ดุเดือดผสาน อยู่กับความประทับใจในการเสียสละ สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวของกองทัพขนาดเล็กที่รวมใจกันต่อสู้กับกองทัพขนาดใหญ่ มีแขนหลุด ขาหลุด (หัวหลุดก็มีให้ชมครับ!!!) เลือดสาด กันท่วมจอ สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ถ้ามีเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีรับชมควรมีผู้ใหญ่ให้คำแนะนำครับ เพราะเนื้อหาในฉาก การสู้รบนั้นโหดร้ายนับได้ว่าเป็นหนังติดเรทเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว สมรภูมิ เธอร์โมไพลา ทัพสปาร์ต้าตั้งทัพเตรียมรับมือการบุกจากเปอร์เซียที่นำทัพโดยกษัตริย์ เซอร์ซิส เดินทางมาทางบกผ่านช่องแคบ ดาร์แดนเนล (Dardanells) ลงมาจากทางเหนือ โดยมีกองทัพเรือขนาดมหึมาล่องขนาบไปตามชายฝั่ง จนไปถึงช่องแคบ เธอร์โมไพลา ทัพกรีก ดักรอตั้งรับอยู่ ในภาพยนตร์มีการต่อสู้ตะลุมบอนกันยกใหญ่ที่ ช่องแคบ เธอร์โมไพลา แต่สาเหตุที่ทำให้เหลือ แค่ทัพของสปาร์ต้าเพียง 300 คนที่ยันการบุกในครั้งนี้ โดยไม่มีทัพกรีกอื่นอยู่คอยช่วยเหลือ ตามประวัติศาสตร์ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อ ทัพของเปอร์เซียเห็น กรีกตั้งรับอยู่บริเวณช่องแคบเธอร์โมไพลา ทัพเรือของเปอร์เซียที่ขนาบคู่มากับทัพบก หันหัวเรือกลับไปขึ้นบกตามชายฝั่งเพื่อเข้าโจมตีนครรัฐอื่นที่ไม่มีกำลังในการต่อต้าน กองทัพกรีกจึงถอนกำลังที่ตรึงไว้บริเวณช่องแคบ เธอร์โมไพลา ไปสกัดทัพเรือของเปอร์เซียที่ตามแนวชายฝั่ง เหลือไว้เพียงนายทหาร 300 ชีวิตของสปาร์ต้าค่อยยันการบุกของทัพบกเปอร์เซียที่ช่องแคบเธอร์โมไพลา แต่ด้วยความชำนาญศึกของนักรบสปาร์ต้าเพียง 300 นาย สามารถตรึงการบุกของทัพบกเปอร์เซียรวมทั้งสังหารนักรบเปอร์เซียไปหลายพันนาย หลังจากต้านการบุกของเปอร์เซียอยู่เป็นเวลาหลายวัน ก็มีผู้ที่ทรยศในหมู่ชาวกรีกนำความเรื่องของเส้นทางลับไปแจ้งให้แก่พวกเปอร์เซีย กษัตริย์เซอร์ซิสจึงนำทัพเคลื่อนไปยังเส้นทางลับอ้อมเข้าไปตลบหลังกองกำลังของสปาร์ต้า แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เข้าตาจนนักรบสปาร์ต้าทั้งหมดยืนหยัดต่อสู้จนตัวตาย แต่ไม่ยอมศิโรราบให้แก่เปอร์เซีย ในบทภาพยนตร์นักรบชาวสปาร์ตันมักจะกล่าวถึงการได้ รับเกียรติจากการเสียชีวิตในสมรภูมิอยู่บ่อยครั้ง ความรู้สึกเช่นนี้ของนักรบชาวสปาร์ตันทำให้มีจิตใจที่แข็งแกร่งไม่หวาดกลัวต่อความตาย เราจึงได้เห็นว่าเกียรติยศในสมรภูมิที่ผู้สร้างได้แสดงผ่านแผ่นฟิมล์ โดยเหล่านักรบสปาร์ตันทั้ง 300 นายได้พยายามสู้ศึกจนลมหายใจสุดท้าย โดยไม่ก้าวถอยแม้แต่ก้าวเดียวมีความน่าประทับใจ และน่านับถือเป็นอย่างยิ่ง
ผลของสงครามเป็นอย่างไร ในบทภาพยนตร์เองไม่ได้กล่าวถึงบทสรุปของสงครามในครั้งนี้นะครับ เหลือทิ้งไว้ให้ผู้ชมต้องฝันค้างต่อไปกันเอง ฉะนั้นในส่วนนี้ภาพยนตร์จะไม่กล่าวถึงนะครับถือเป็นของแถมสำหรับคนช่างสงสัยละกันครับ สำหรับผลของสงครามในครั้งนี้ ฝ่ายเปอร์เซียเป็นฝ่ายได้รับความปราชัย (อีกแล้ว) ทำไมจึงปราชัยนำกองทัพมาใหญ่โตขนาดนั้น? เนื่องจากการบุกของกองทัพเปอร์เซียในทางบกนั้น ทางกองทัพกรีกซึ่งมีจำนวนพลที่เป็นรอง ไม่สามารถต้านทานการโหมบุกของเปอร์เซียได้จึงใช้แผนการโดยอพยพผู้คนออกจากเมือง เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดแล้วไปฝากความหวังในการศึกครั้งนี้ไว้กับทัพเรือ จึงหมายความว่าถ้าเปอร์เซียต้องการชนะสงครามในครั้งนี้ต้องเอาชนะทัพเรือของกรีกให้ได้นั้นเอง (ประมาณว่าเข้าไปในเมืองแล้วเจอแต่ความว่างเปล่า) ยุทธนาวีของกรีกที่ใช้ในการต่อกร เรือของเปอร์เซีย ก็คือ อาศัยความได้เปรียบทางภูมิประเทศในทะเล กับความคล่องตัวของเรือซึ่งมีขนาดที่เล็กกว่า โดยเรือของเปอร์เซียนั้นมีขนาดที่ใหญ่และช้า ประกอบกับมีจำนวนที่มากจึงทำให้ไม่คล่องตัวในบริเวณท้องทะเลที่แคบ (บริเวณเกาะ แซรามิส Selamis) ในการสู้รบในทะเลวันแรกปรากฏ ว่ากองเรือของกรีก สามารถจมเรือของเปอร์เซีย ไปได้ราว 200 ลำ! ถัดมาอีกหลายวันเปอร์เซียสูญเสียเรือเป็นจำนวนมากจากการสู้รบในทะเล ทำให้กษัตริย์เซอร์ซิส สิ้นหวังที่จะเอาชนะจึงถอนกำลังกลับไป จึงเป็นการสิ้นสุดสงครามลงโทษกรีกครั้งที่ 2 ถือเป็นชัยชนะอันชาญฉลาดของชนชาติกรีกที่มีจำนวนพลน้อยกว่า
สงครามทางเรือที่ทำให้กรีกได้รับชัยชนะ
การนำเสนอของเรื่องราวในภาพยนตร์มีโครงเรื่องที่อิงจากประวัติศาสตร์ และมีการปรุงแต่งเนื้อหาสอดแทรกจิตนาการของผู้สร้างอยู่บ้างเพื่อความบันเทิงในการรับชม จากความเห็นส่วนตัวนะครับภาพยนตร์เรื่องนี้มีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร อันดับแรกที่ควรจะต้องกล่าวถึงคือ ในส่วนของภาพของความรุนแรงในฉากสู้รบผู้สร้างนั้นทำออกมาได้อย่างดุเดือด และออกไปทางแนวดิบเถื่อน ซะจนถ้าใครมีบุตร หลาน เล็ก ๆ ไม่ควรให้รับชมเป็นอย่างยิ่ง หรือควรมีผู้ใหญ่ค่อยให้คำแนะในระหว่างการรับชม ผมขอจัดว่า 16+ แล้วกัน ทุนต่ำกำไรสูงทำได้อย่างไร สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้จะครับการถ่ายทำส่วนใหญ่จะอยู่แต่ในสตูดิโอ ใช้ทุนสร้างไม่สูงนักแต่กวาดรายได้มหาศาล อาศัยขายจากความน่าสนใจในตัวของบทภาพยนตร์มากกว่า ขายความยิ่งใหญ่อลังการจากทุนสร้าง ผลสืบเนื่องจากการที่เน้นการถ่ายทำส่วนใหญ่อยู่ในสตูดิโอ ข้อจำกัดในเรื่องของมุมกล้อง ถ้าใครที่ได้รับชมไปแล้วพอจำกันได้นะครับว่า มุมกล้องส่วนใหญ่จะถ่ายทำออกมาในลักษณะ มุมแคบ ๆ และ เน้นมุมถ่ายขึ้นบน (มุมเงย) การถ่ายแบบนี้ส่วนใหญ่จะพบเห็นได้จากภาพยนตร์เก่า ๆ ในสมัยก่อน แต่ก็ดูคลาสสิกไปอีกแบบสำหรับมุมภาพลักษณะนี้ในภาพยนตร์ 300 ได้บรรยากาศดูเก่า ๆ (หรือเปล่า?) เหมาะกับเนื้อหา ลักษณะของภาพ ตลอดทั้งเรื่องจะดูไม่ค่อยสว่าง เป็นภาพยนตร์แนว สลัว ๆ ซึ่งดูแล้วก็เหมาะสมกันดีกับเหตุการณ์ที่นำเสนอ แต่ผู้ชมบางท่านก็ไม่ชื่นชอบภาพในลักษณะนี้ แล้วแต่ความชอบแล้วกันครับ ในเรื่องของเสียงประกอบภาพยนตร์ ทำออกมาได้ค่อนข้างเยี่ยม ไม่รู้สึกสะดุด หรือขัดกับอารมณ์ให้เสียอรรถรส แต่ก็มีบ้างที่บางครั้งเกิดเสียงสะท้อนในบางฉากอย่างที่ไม่ควรจะเป็น น่าจะเกิดจากข้อจำกัดของการถ่ายในสตูดิโอ เรื่องของฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้เราจะได้เห็นทิวทัศน์น้อยมากหรือแทบจะไม่มี มุมกล้องแทบไม่กดลงให้ชมกันเลย (ก็อยู่ในสตูดิโอมันจะมีให้เห็นยังไงทิวทัศน์ที่ว่า) ดาราที่นำแสดงในเรื่องนี้สำหรับผมนับว่าไม่ขัดใจ ทั้งบทบาท หน้าตา เอาเป็นว่าถูกใจผมครับ ถ้าจะพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมนับว่าภาพยนตร์เรื่อง 300 ทำออกมาได้ถูกใจตามมาตรฐานของผมเลยทีเดียว การสื่อระหว่างตัวภาพยนตร์กับผู้รับชม ทำให้เกิดอารมณ์รวมไปกับเรื่องราวได้อย่างครบถ้วน หลากหลายความรู้สึก ผมขอชื่นชมครับ
แง่คิดที่ได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ความสามัคคี และเสียสละภักดี ทั้ง 300 นายที่มีความสามัคคีซึ่งกันและกัน ถึงแม้จะมีกำลังเพียงน้อยนิดแต่ด้วยความเป็นอันนึงอันเดียวกัน ก็ยากที่จะล้มลงได้ แม้เคราะห์กรรมนั้นจะหนักหนาแค่ไหน ดังถ้อยคำที่ กษัตริย์เลโอนิดัส กล่าวในบทภาพยนต์ถึงยุทธวิธีการรบกลุ่มของสปาร์ต้าในฉากหนึ่งว่า " เราสู้ กันเป็นกลุ่มไม่มีใครตีแตกได้ (we Fight like an impenetrable and unique unit.) นั้นคือความแข็งแกร่งของพวกเรา (This is the fountain of our strength.) นักรบแต่ละคนปกป้องคนทางซ้ายของตน (Each spartan it protects him man to its left...) จากต้นขา ถึงคอ ด้วยโล่ (..of the thigh to the neck with his shield.) หากมีจุดอ่อนเพียงจุดเดียวกลุ่มรบก็จะแตกได้ (Sufficiency a weak link for it phalanx be torn up.) " การเสียสละและภักดีของนักรบ ทั้ง 300 นายต่อ กษัตริย์ของตน และต่อแผ่นดินของตน แม้จะรู้ว่าการศึกครั้งนี้เป็นตายเท่ากันแต่ก็ไม่มีนักรบคนใด ละทิ้งศึกและพร้อมสละชีพเพื่อสิ่งที่เขาคิดว่ายิ่งใหญ่กว่า อย่างใจเด็ดเดียวจนลมหายใจสุดท้าย
แต่ข้อคิดที่สำคัญที่สุดในภาพยนตร์เกี่ยวกับสงคราม ในหลาย ๆ เรื่อง การสูญเสีย.... เมื่อเกิดสงครามย่อมมีการสูญเสีย พ่อแม่สูญเสียลูก ลูกกำพร้าพ่อ พี่น้อง ต้องพลัดพราก ผู้คนเจ็บปวดจากภัยสงคราม พิกลพิการ บางครั้งฉากอันน่าประทับใจของวีรบุรุษในสงคราม อาจทำให้เราชื่นชมจนลืมที่จะสังเกตเห็นภาพที่มนุษยชาติ เข้าสังหารทำลายล้างซึ่งกันละกัน วีรบุรุษสงคราม พระเอกของเรื่องราวอันน่าภูมิใจที่สร้างขึ้นมากจาก กองซากศพในสนามรบ และในบางครั้งก็จะปะปนไปด้วยซากศพของพลเรือนที่เป็นผู้บริสุทธิ์ซึ่งตกเป็นเหยื่อ สิ่งนี้คุ้มค่าหรือไม่กับคำว่า วีรบุรุษ หรือ ตำนาน แง่คิดในส่วนนี้จากการดูภาพยนตร์ในสงครามไม่ว่าเรื่องใด ๆ ก็ตามนะครับ ผมอยากให้นอกจากดูเรื่องราวของตัวเอกในเรื่องอยากให้ทุกคนมองไปถึงเรื่องของความสูญเสียที่เกิด ประวัติศาสตร์สอนให้คนเรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น เราควรจะตระหนักถึงผลที่เกิดในอดีต และนำพาอนาคตไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอดีตที่ได้เรียนรู้ ขึ้นอยู่กับผู้ชมแต่ละท่านครับว่าต้องการให้อนาคตเป็นอย่างไร " อนาคตแห่งวีรบุรษ " หรือ " อนาคตแห่งสันติภาพ "







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มุมข่าวน่าสนใจ

ผู้ติดตาม